สรุปสาระสำคัญพระราชบัญญัติจดแจ้งการพิมพ์ พ.ศ. ๒๕๕๐
หมวดที่ ๑ สิ่งพิมพ์
๑. สิ่งพิมพ์ ( มาตรา ๔ )
หมายความว่า สมุด หนังสือ แผ่นกระดาษ หรือวัตถุใดๆ ที่พิมพ์ขึ้นเป็นหลายสำเนา
๒. คุณสมบัติของผู้พิมพ์หรือผู้โฆษณาสิ่งพิมพ์ที่พิมพ์ ( มาตรา ๗ )
- มีอายุไม่ต่ำกว่ายี่สิบปีบริบูรณ์
- มีถิ่นที่อยู่ประจำในราชอาณาจักร
- ไม่เป็นคนไร้ความสามารถหรือเสมือนไร้ความสามารถ
- ไม่เคยต้องโทษตามคำพิพากษาถึงที่สุดให้จำคุก
๓. สิ่งพิมพ์ซึ่งเป็นหนังสือที่ไม่ใช่หนังสือพิมพ์ให้แสดงข้อความ ดังนี้ ( มาตรา ๘ )
- ชื่อของผู้พิมพ์และที่ตั้งโรงพิมพ์
- ชื่อและที่ตั้งของผู้โฆษณา
- เลขมาตรฐานสากลประจำหนังสือ หรือ ISBN
๔. ให้ผู้พิมพ์ส่งสิ่งพิมพ์ตามมาตรา ๘ จำนวน ๒ ฉบับ ให้หอสมุดแห่งชาติภายใน ๓๐ วันนับแต่วันที่เผยแพร่ ( มาตรา ๙ )
หากผู้ใดฝ่าฝืน มาตรา ๘ หรือ มาตรา ๙ ต้องระวางโทษปรับทางปกครองไม่เกิน ๑๐,๐๐๐ บาท ( มาตรา ๑๙ )
๕. ผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติมีอำนาจ มีอำนาจออกคำสั่งโดยประกาศในราชกิจจานุเบกษาห้ามสั่งเข้า หรือนำเข้าเพื่อเผยแพร่ในราชอาณาจักร สิ่งพิมพ์ใดๆ
ที่เป็นการหมิ่นประมาทดูหมิ่น หรืออาฆาตมาดร้ายพระมหากษัตริย์ พระราชินี รัชทายาท หรือกระทบต่อความมั่นคงแห่งราชอาณาจักร หากฝ่าฝืนให้ผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติมีอำนาจริบและทำลาย ( มาตรา ๑๐ )
หากฝ่าฝืนคำสั่งของผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ ตามมาตรา ๑๐ ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกิน ๓ ปี หรือปรับไม่เกิน ๖๐,๐๐๐ บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ ( มาตรา ๒๗ )
หมวดที่ ๒ หนังสือพิมพ์
๑. หนังสือพิมพ์ ( มาตรา ๔ )
หมายความว่า สิ่งพิมพ์ที่มีชื่อจ่าหน้าเช่นเดียวกัน และออกหรือเจตนาจะออกตามลำดับไป มีกำหนดระยะเวลาหรือไม่ก็ตาม มีข้อความต่อเนื่องกันหรือไม่ก็ตาม รวมถึงนิตยสาร วารสาร สิ่งพิมพ์ที่เรียกชื่ออย่างอื่นทำนองเดียวกัน
๒. หนังสือพิมพ์ที่พิมพ์ขึ้นภายในราชอาณาจักรต้องจดแจ้งการพิมพ์ตามบัญญัติแห่งพระราชบัญญัตินี้ โดยผู้ยื่นจดแจ้งการพิมพ์หนังสือต้องมีคุณสมบัติ ดังนี้ ( มาตรา ๑๑ )
- ชื่อ สัญชาติ ถิ่นที่อยู่ของผู้พิมพ์ ผู้โฆษณา บรรณาธิการ หรือเจ้าของกิจการหนังสือพิมพ์
- ชื่อของหนังสือพิมพ์
- วัตถุประสงค์และระยะเวลาออกหนังสือพิมพ์
- ภาษาที่หนังสือพิมพ์จะออกใช้
- ชื่อและที่ตั้งโรงพิมพ์หรือสถานที่พิมพ์
- ชื่อและที่ตั้งสำนักงานของหนังสือพิมพ์
หากผู้ใดออกหนังสือพิมพ์ โดยพนักงานเจ้าหน้าที่ยังไม่ได้จดแจ้งตามมาตรา ๑๑ มีความผิดต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินหกเดือน หรือปรับไม่เกินหนึ่งหมื่นบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ ( มาตรา ๒๕ )
๓. ในหนังสือพิมพ์ให้แสดงข้อความ ดังต่อไปนี้ ( มาตรา ๑๒ )
- ชื่อของผู้พิมพ์และที่ตั้งโรงพิมพ์
- ชื่อและที่ตั้งของผู้โฆษณา
- ชื่อของบรรณาธิการหนังสือพิมพ์
- ชื่อและที่ตั้งของเจ้าของกิจการหนังสือ
หากผู้ใดฝ่าฝืน มาตรา ๑๒ ต้องระวางโทษปรับทางปกครองไม่เกิน ๑๐,๐๐๐ บาท ( มาตรา ๒๐ )
๔. คุณสมบัติของบรรณาธิการหนังสือพิมพ์ ( มาตรา ๑๔ )
- มีอายุไม่ต่ำกว่ายี่สิบปีบริบูรณ์
- มีสัญชาติไทย หรือสัญชาติแห่งประเทศซึ่งมีสนธิสัญญากับประเทศไทย
- มีถิ่นที่อยู่ประจำในราชอาณาจักร
- ไม่เป็นคนไร้ความสามารถหรือเสมือนไร้ความสามารถ
- ไม่เคยต้องโทษตามคำพิพากษาถึงที่สุดให้จำคุก
หากผู้ใดฝ่าฝืน
มาตรา ๑๔ ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินหกเดือน หรือปรับไม่เกินหนึ่งหมื่นบาท หรือ
ทั้งจำทั้งปรับ (
มาตรา ๒๕ )
๕. เจ้าของกิจการหนังสือพิมพ์ที่เป็นบุคคลธรรมดา ผู้พิมพ์ หรือผู้โฆษณาต้องมีคุณสมบัติและไม่มีลักษณะต้องห้าม ดังต่อไปนี้ ( มาตรา ๑๕ )
- มีอายุไม่ต่ำกว่ายี่สิบปีบริบูรณ์
- มีสัญชาติไทย
- มีถิ่นที่อยู่ประจำในราชอาณาจักร
- ไม่เป็นคนไร้ความสามารถหรือเสมือนไร้ความสามารถ
- ไม่เคยต้องโทษตามคำพิพากษาถึงที่สุดให้จำคุก
หากผู้ใดฝ่าฝืน มาตรา ๑๕ ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินหกเดือน หรือปรับไม่เกินหนึ่งหมื่นบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ ( มาตรา ๒๕ )
๖. เจ้าของกิจการหนังสือพิมพ์ที่เป็นนิติบุคคลต้องมีบุคคลที่มีสัญชาติไทยถือหุ้นไม่น้อยกว่าร้อยละ ๗๐% ของหุ้นทั้งหมด และต้องมีกรรมการไม่น้อยกว่า๓ ใน ๔ ของจำนวนกรรมการทั้งหมดเป็นผู้มีสัญชาติไทยด้วย ( มาตรา ๑๖ )
หากผู้ใดฝ่าฝืนต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินหกเดือน หรือปรับไม่เกินหนึ่งหมื่นบาท หรือทั้งจำทั้งปรับและให้เลิกการถือหุ้น ( มาตรา ๒๕ )
๗. หากเปลี่ยนแปลง ชื่อหนังสือ ชื่อและที่ตั้งโรงพิมพ์หรือสถานที่พิมพ์ ต้องแจ้งให้พนักงานเจ้าหน้าที่ทราบภายใน ๓๐ วัน ( มาตรา ๑๗ )
หากผู้ใดฝ่าฝืน มาตรา ๑๗ ต้องระวางโทษปรับทางปกครองไม่เกิน ๒๐,๐๐๐ บาท ( มาตรา ๑๙ )
๘. หากมีการเปลี่ยนแปลง ผู้พิมพ์ ผู้โฆษณา บรรณาธิการหรือเจ้าของกิจการหนังสือพิมพ์ ต้องแจ้งให้พนักงานเจ้าหน้าที่ทราบ เพื่อยกเลิกหรือเปลี่ยนแปลงรายการในหลักฐานการจดแจ้ง ภายใน ๓๐ วัน( มาตรา ๑๘ )
หากผู้ใดฝ่าฝืน มาตรา ๑๘ ต้องระวางโทษปรับทางปกครองไม่เกิน ๓๐,๐๐๐ บาท ( มาตรา ๒๒ )