คำอธิบายสรุปสาระสำคัญ :
ประกาศคณะปฏิรูปการปกครองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข
ฉบับที่ ๒๑ เรื่อง ห้ามการดักฟังทางโทรศัพท์หรือเครื่องมือสื่อสารอื่นใด
![]() |
๑. บทนำ :
การติดต่อสื่อสารระหว่างบุคคลไม่ว่าด้วยวิธีการใด ๆ นั้น เป็นสิ่งที่กฎหมายให้ความสำคัญเป็นอย่างยิ่งและได้ถูกบัญญัติเอาไว้ในรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทยเสมอมา เป็นต้นว่า รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ.๒๕๔๐ (มาตรา ๓๗) , พ.ศ.๒๕๕๐ (มาตรา ๓๖) และในฉบับปัจจุบัน (มาตรา ๓๖) ซึ่งต่างก็มีบทบัญญัติคุ้มครองเสรีภาพในการติดต่อสื่อสารถึงกันระหว่างบุคคลไม่ว่าในทางใด ๆ การตรวจ การกัก หรือการเปิดเผยข้อมูลที่บุคคลสื่อสารถึงกัน รวมทั้งการกระทำด้วยประการใด ๆ เพื่อให้ล่วงรู้หรือได้มาซึ่งข้อมูลที่บุคคลสื่อสารถึงกันจะกระทำมิได้ เว้นแต่มีคำสั่งหรือหมายของศาล หรือมีเหตุอย่างอื่นตามที่กฎหมายบัญญัติ
ในส่วนของการติดต่อสื่อสารทางโทรศัพท์หรือเครื่องมือสื่อสารอื่นใด นั้น การเปิดเผยข้อมูลที่บุคคลสื่อสารถึงกัน รวมทั้งการกระทำด้วยประการใด ๆ เพื่อให้ล่วงรู้หรือได้มาซึ่งข้อมูลที่บุคคลสื่อสารถึงกัน นอกเสียจากจะเป็นการกระทำที่ละเมิดต่อเสรีภาพในการติดต่อสื่อสารตามรัฐธรรมนูญแล้ว การกระทำดังกล่าวยังอาจถือได้ว่าเป็นการกระทำความผิดทางอาญาด้วย ทั้งนี้ ตามประกาศคณะปฏิรูปการปกครองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุขฉบับที่ ๒๑ เรื่อง ห้ามการดักฟังทางโทรศัพท์หรือเครื่องมือสื่อสารอื่นใด
ประกาศคณะปฏิรูปการปกครองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข
ฉบับที่ ๒๑ เรื่อง ห้ามการดักฟังทางโทรศัพท์หรือเครื่องมือสื่อสารอื่นใด นั้น
เป็นกฎหมายที่ประกาศโดยคณะปฏิรูปการปกครองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข
(คปค.) เมื่อวันที่ ๒๔ กันยายน ๒๕๔๙
ซึ่งถือว่าเป็นประกาศที่ชอบด้วยกฎหมายและชอบด้วยรัฐธรรมนูญและมีสภาพบังคับใช้เรื่องมาจวบจนถึงปัจจุบัน
ทั้งนี้ เนื่องจาก รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย
(ฉบับชั่วคราว) พ.ศ.๒๕๔๙ มาตรา ๓๖
ได้บัญญัติว่า บรรดาประกาศและคำสั่งของคณะปฏิรูปการปกครองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุขหรือคำสั่งของหัวหน้าคณะปฏิรูปการปกครองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุขที่ได้ประกาศหรือสั่ง
ในระหว่างวันที่ ๑๙ กันยายน พุทธศักราช ๒๕๔๙ จนถึงวันประกาศใช้รัฐธรรมนูญนี้ไม่ว่าจะเป็นในรูปใดและไม่ว่าจะประกาศหรือสั่งให้มีผลบังคับทางนิติบัญญัติ
ในทางบริหารหรือในทางตุลาการ
ให้มีผลใช้บังคับต่อและให้ถือว่าประกาศหรือคำสั่งตลอดจนการปฏิบัติตามประกาศหรือคำสั่งนั้นไม่ว่าการปฏิบัติตามประกาศหรือคำสั่งนั้นจะกระทำก่อนหรือหลังวันประกาศใช้รัฐธรรมนูญนี้
เป็นประกาศหรือคำสั่งหรือการปฏิบัติที่ชอบด้วยกฎหมายและชอบด้วยรัฐธรรมนูญนี้
และรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย
พ.ศ.๒๕๕๐ ได้ยอมรับหลักการกระทำของคณะปฏิวัติชอบด้วยกฎหมายและชอบด้วยรัฐธรรมนูญ
เอาไว้ในมาตรา ๓๐๙ ซึ่งบัญญัติว่า บรรดาการใด ๆ ที่ได้รับรองไว้ในรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย
(ฉบับชั่วคราว) พุทธศักราช ๒๕๔๙ ว่าเป็นการชอบด้วยกฎหมายและรัฐธรรมนูญ
รวมทั้งการกระทำที่เกี่ยวเนื่องกับกรณีดังกล่าวไม่ว่าก่อนหรือหลังวันประกาศใช้รัฐธรรมนูญนี้
ให้ถือว่าการนั้นและการกระทำนั้นชอบด้วยรัฐธรรมนูญนี้
ถึงแม้ว่าในปัจจุบัน ได้มีการประกาศใช้รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ.๒๕๖๐ (ฉบับปัจจุบัน) แล้วก็ตาม หากแต่ประกาศคณะปฏิรูปฯ ดังกล่าวนั้น หาได้มีกฎหมายบัญญัติเอาไว้ไม่ว่าโดยชัดแจ้งหรือโดยปริยายให้ยกเลิกแต่อย่างใด ดังนั้น ประกาศคณะปฏิรูปดังกล่าว จึงยังคงเป็นกฎหมายใช้บังคับได้อยู่จวบจนถึงปัจจุบัน (เทียบคำพิพากษาศาลฎีกาที่ ๑๒๓๔/๒๕๒๓)
๒. ความมุ่งหมายและวัตถุประสงค์ :
ประกาศคณะปฏิรูปการปกครองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข ฉบับที่ ๒๑ เรื่อง ห้ามการดักฟังทางโทรศัพท์หรือเครื่องมือสื่อสารอื่นใด มีความมุ่งหมายและวัตถุประสงค์ในการประกาศ ดังนี้
โดยที่ในระยะเวลาที่ผ่านมา ได้มีการลักลอบดักฟัง ใช้ประโยชน์ หรือเปิดเผยข้อความที่มีการติดต่อสื่อสารทางโทรศัพท์หรือเครื่องมือสื่อสารอื่นโดยมิชอบด้วยกฎหมาย อันเป็นการละเมิดเสรีภาพของบุคคลในการสื่อสารถึงกัน ก่อให้เกิดความหวาดระแวงกันทั่วไปในหมู่ประชาชนผู้ใช้เครื่องมือสื่อสาร
ดังนั้น เพื่อคุ้มครองเสรีภาพในการสื่อสารถึงกันโดยชอบด้วยกฎหมายและเพื่อให้เกิดความเป็นระเบียบเรียบร้อยและรักษาความสงบของประเทศ คณะปฏิรูปการปกครองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข จึงมีประกาศดังต่อไปนี้
กล่าวโดยสรุป เหตุผลและความจำเป็นในการประกาศกฎหมายฉบับดังกล่าว
สืบเนื่องจาก
ในระยะเวลาที่ผ่านมา ได้มีการลักลอบดักฟัง ใช้ประโยชน์
หรือเปิดเผยข้อความที่มีการติดต่อสื่อสารทางโทรศัพท์หรือเครื่องมือสื่อสารอื่นโดยมิชอบด้วยกฎหมาย
อันเป็นการละเมิดต่อเสรีภาพในการติดต่อสื่อสารระหว่างกันตามที่บัญญัติในรัฐธรรมนูญ
ซึ่งก่อให้เกิดความหวาดระแวงต่อประชาชนที่ใช้โทรศัพท์หรือเครื่องมือสื่อสารอื่นใด
สำหรับความมุ่งหมายและวัตถุประสงค์ในการประกาศกฎหมายฉบับดังกล่าว นั้น มีดังนี้ ๑. เพื่อคุ้มครองเสรีภาพในการติดต่อสื่อสารถึงกันระหว่างบุคคลโดยชอบด้วยกฎหมาย ๒. เพื่อให้เกิดความเป็นระเบียบเรียบร้อยและรักษาความสงบของประเทศ ด้วยเหตุนี้ คณะปฏิรูปการปกครองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุขจึงได้ประกาศกฎหมายฉบับดังกล่าวขึ้น
๓. สาระสำคัญ :
ประกาศฯ ฉบับนี้ ได้มีการประกาศในราชกิจจานุเบกษาเมื่อวันที่ ๒๔ กันยายน ๒๕๔๙ และมีผลใช้บังคับตั้งแต่วันถัดจากวันประกาศในราชกิจจานุเบกษาเป็นต้นไป กล่าวคือ มีผลใช้บังคับในวันที่ ๒๕ กันยายน ๒๕๔๙ โดยมีลักษณะเป็นกฎหมายอาญา เนื่องจากปรากฏข้อกำหนดที่กำหนดว่าการกระทำใดเป็นความผิดและมีการกำหนดโทษในการกระทำดังกล่าวเอาไว้ (ตามประกาศฯ ข้อ ๑ ข้อ ๒ และ ข้อ ๓) จึงมีลำดับศักดิ์เทียบเท่ากับพระราชบัญญัติ นอกจากนี้ ยังปรากฏข้อกำหนดที่มีลักษณะเป็นโทษทางปกครองอีกด้วย (ตามประกาศฯ ข้อ ๔) รายละเอียดปรากฏ ดังนี้
ข้อ |
ข้อกำหนด |
องค์ประกอบความผิด |
สภาพบังคับ |
๑. |
ผู้ใดดักฟัง ใช้ประโยชน์ หรือเปิดเผยข้อความที่มีการติดต่อทางโทรศัพท์หรือเครื่องมือสื่อสารอื่นใด โดยไม่มีอำนาจโดยชอบด้วยกฎหมายต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินห้าปี หรือปรับไม่เกินหนึ่งแสนบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ |
๑. ผู้ใด ๒. ดักฟัง ใช้ประโยชน์ หรือเปิดเผย ๓. ข้อความที่มีการติดต่อสื่อสารทางโทรศัพท์หรือเครื่องมือสื่อสารอื่นใด ๔. โดยไม่มีอำนาจโดยชอบด้วยกฎหมาย
|
- จำคุกไม่เกินห้าปี หรือปรับไม่เกินหนึ่งแสนบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ |
๒. |
ผู้ใดรับรู้ข้อความที่ได้มาจากการกระทำความผิดตามข้อ ๑ ใช้ประโยชน์หรือเปิดเผยข้อความนั้นต่อผู้อื่น โดยไม่มีอำนาจโดยชอบด้วยกฎหมายต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินห้าปี หรือปรับไม่เกินหนึ่งแสนบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ |
๑. ผู้ใด ๒. รับรู้ข้อความที่ได้มาจากการกระทำความผิดตามข้อ ๑ ๓. ใช้ประโยชน์หรือเปิดเผยข้อความนั้นต่อผู้อื่น ๔. โดยไม่มีอำนาจโดยชอบด้วยกฎหมาย |
- จำคุกไม่เกินห้าปี หรือปรับไม่เกินหนึ่งแสนบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ |
๓. |
ผู้ใดใช้ให้ผู้อื่นกระทำความผิดตามข้อ ๑ หรือข้อ ๒ ต้องรับโทษเพิ่มขึ้นเป็นสองเท่าตามที่บัญญัติไว้ในข้อ ๑ หรือข้อ ๒ แล้วแต่กรณี |
๑. ผู้ใด ๒. ใช้ให้ผู้อื่นกระทำความผิดตามข้อ ๑ หรือข้อ ๒ |
- รับโทษเพิ่มขึ้นเป็นสองเท่าตามที่บัญญัติไว้ในข้อ ๑ หรือข้อ ๒ แล้วแต่กรณี
|
๔. |
ถ้าผู้กระทำความผิดเป็นผู้ได้รับอนุญาตให้บริการโทรศัพท์หรือการสื่อสาร หรือเป็นผู้ได้รับสัมปทานการให้บริการดังกล่าว นอกจากต้องรับโทษตามข้อ ๑ ข้อ ๒ หรือข้อ ๓ แล้วแต่กรณีแล้ว ให้ใบอนุญาตหรือสัมปทานนั้น สิ้นสุดลงด้วย |
๑. ผู้ใด ๒. เป็นผู้ได้รับอนุญาตให้บริการโทรศัพท์หรือการสื่อสารหรือเป็นผู้ได้รับสัมปทานการให้บริการดังกล่าว ๓. กระทำความผิดตามข้อ ๑ ข้อ ๒ หรือข้อ ๓ |
- รับโทษตามข้อ ๑ ข้อ ๒ หรือข้อ ๓ แล้วแต่กรณี - ให้ใบอนุญาตหรือสัมปทานนั้น สิ้นสุดลง |
๑. ประกาศฯ ข้อ ๑ กำหนดว่า ผู้ใดดักฟัง ใช้ประโยชน์ หรือเปิดเผยข้อความที่มีการติดต่อทางโทรศัพท์หรือเครื่องมือสื่อสารอื่นใด โดยไม่มีอำนาจโดยชอบด้วยกฎหมายต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินห้าปี หรือปรับไม่เกินหนึ่งแสนบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ
๑.๑ องค์ประกอบความผิด
๑.๑.๑. ผู้ใด
คำว่า ผู้ใด ตามข้อ ๑ แห่งประกาศคณะปฏิรูปการปกครองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุขฉบับที่ ๒๑ เรื่อง ห้ามการดักฟังทางโทรศัพท์หรือเครื่องมือสื่อสารอื่นใด นั้น มีความหมายรวมทั้ง บุคคลธรรมดาและนิติบุคคล
๑.๑.๒ ดักฟัง ใช้ประโยชน์ หรือเปิดเผย
การกระทำอันเป็นองค์ประกอบความผิดของ ข้อ ๑ แห่งประกาศคณะปฏิรูปการปกครองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุขฉบับที่ ๒๑ เรื่อง ห้ามการดักฟังทางโทรศัพท์หรือเครื่องมือสื่อสารอื่นใด นั้น แบ่งลักษณะของการกระทำออกเป็นสามประการด้วยกัน รายละเอียดปรากฏ ดังนี้
ประการแรก การดักฟัง หมายถึง การที่บุคคลที่สามซึ่งไม่ใช่คู่สนทนาได้กระทำด้วยประการใด ๆ เพื่อล่วงรู้หรือได้มาซึ่งข้อความที่มีการติดต่อสื่อสารทางโทรศัพท์หรือเครื่องมือสื่อสารอื่นใด
ประการที่สอง การใช้ประโยชน์ หมายถึง การนำข้อความที่มีการติดต่อสื่อสารทางโทรศัพท์หรือเครื่องมือสื่อสารอื่นใดไปแสวงหาประโยชน์ ทั้งนี้ ไม่จำกัดว่าประโยชน์ที่นำไปใช้นั้นจะเป็นประโยชน์ที่เกี่ยวด้วยทรัพย์สินหรือไม่ หากผู้ใดนำข้อความที่มีการติดต่อสื่อสารถึงกันทางโทรศัพท์หรือเครื่องมือสื่อสารอื่นใดไปใช้ประโยชน์ ไม่ว่าทางใดทางหนึ่งแล้ว กรณีย่อมต้องด้วยองค์ประกอบความผิดประการนี้ ทั้งนี้ ไม่ว่าโดยวิธีการใด ๆ ก็ตาม
ประการที่สาม การเปิดเผย หมายถึง การนำข้อความที่มีการติดต่อสื่อสารทางโทรศัพท์หรือเครื่องมือสื่อสารอื่นใดไปให้บุคคลที่สามล่วงรู้ ทั้งนี้ ไม่ว่าโดยวิธีการใด ๆ ก็ตาม
๑.๑.๓ ข้อความที่มีการติดต่อสื่อสารทางโทรศัพท์หรือเครื่องมือสื่อสารอื่นใด
การดักฟัง หรือการใช้ประโยชน์ หรือการเปิดเผย อันจะถือเป็นความผิดตามประกาศฯ ข้อ ๑ นั้น จะต้องปรากฏว่าเป็นการกระทำต่อข้อความที่มีการติดต่อสื่อสารทางโทรศัพท์หรือเครื่องมือสื่อสารอื่นใด หากข้อเท็จจริงปรากฏว่าข้อความที่มีการติดต่อสื่อสารถึงกันนั้น ไม่ใช่การติดต่อสื่อสารทางโทรศัพท์หรือเครื่องมือสื่อสารอื่นใด กรณีย่อมไม่ต้องด้วยองค์ประกอบความผิดตามประกาศฯ ข้อนี้
๑.๑.๔ โดยไม่มีอำนาจโดยชอบด้วยกฎหมาย
การกระทำในลักษณะของการดักฟัง
การใช้ประโยชน์ หรือการเปิดเผย
ซึ่งข้อความที่มีการติดต่อสื่อสารทางโทรศัพท์หรือเครื่องมือสื่อสารอื่นใด
อันจะถือเป็นความผิดตามประกาศฯ ข้อนี้ ข้อเท็จจริงจะต้องปรากฏด้วยว่า ต้องเป็นการกระทำโดยไม่มีอำนาจโดยชอบด้วยกฎหมาย
ซึ่งมีความหมายเป็นนัยเดียวกับการกระทำโดยผิดกฎหมายหรือกระทำโดยไม่ชอบด้วยกฎหมายนั่นเอง
กล่าวคือ ต้องเป็นการกระทำโดยไม่มีสิทธิหรือไม่มีอำนาจที่จะกระทำได้ตามกฎหมาย
ดังนั้น หากข้อเท็จจริงปรากฏว่า การกระทำในลักษณะของการดักฟัง ใช้ประโยชน์
หรือเปิดเผย นั้น เป็นการกระทำโดยมีสิทธิ เป็นต้นว่า
คู่สนทนาอนุญาตหรือให้ความยินยอมโดยไม่ขัดต่อความสงบเรียบร้อยหรือศีลธรรมอันดีของประชาชน
หรือผู้กระทำมีอำนาจ
ที่จะกระทำได้ตามกฎหมาย การกระทำดังกล่าวย่อมไม่เป็นความผิดตามประกาศฯ ข้อนี้
๒. ประกาศฯ ข้อ ๒ กำหนดว่า ผู้ใดรับรู้ข้อความที่ได้มาจากการกระทำความผิดตามข้อ
๑
ใช้ประโยชน์หรือเปิดเผยข้อความนั้นต่อผู้อื่น
โดยไม่มีอำนาจโดยชอบด้วยกฎหมายต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินห้าปี
หรือปรับไม่เกินหนึ่งแสนบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ
๒.๑ องค์ประกอบความผิด
๒.๑.๑ ผู้ใด
หมายถึง บุคคลธรรมดาและนิติบุคคล
๒.๑.๒ รับรู้ข้อความที่ได้มาจากการกระทำความผิดตามข้อ ๑
ผู้ที่จะกระทำความผิดตามประกาศฯ ข้อที่ ๒ นี้ ข้อเท็จจริงต้องปรากฏว่า ผู้นั้นต้องเป็นบุคคลที่ได้รับรู้ข้อความที่ได้มาจากการกระทำความผิดตามประกาศฯ ข้อ ๑ กล่าวคือ ต้องเป็นบุคคลที่สามซึ่งได้รับรู้ข้อความอันเกิดจากการดักฟัง การใช้ประโยชน์ หรือการเปิดเผยข้อความที่มีการติดต่อสื่อสารถึงกันทางโทรศัพท์หรือเครื่องมือสื่อสารอื่นใดโดยไม่มีอำนาจโดยชอบด้วยกฎหมาย
๒.๑.๓ ใช้ประโยชน์หรือเปิดเผยข้อความนั้นต่อผู้อื่น
เมื่อได้รับรู้ข้อความอันเกิดจากการดักฟัง
การใช้ประโยชน์
หรือการเปิดเผยข้อความที่มีการติดต่อสื่อสารถึงกันทางโทรศัพท์หรือเครื่องมือสื่อสารอื่นใดโดยไม่มีอำนาจโดยชอบด้วยกฎหมาย
อันเป็นการกระทำผิดตามประกาศฯ ข้อ ๑ แล้ว
บุคคลนั้นจะต้องนำข้อความดังกล่าวไปใช้ประโยชน์หรือเปิดเผยข้อความนั้นต่อผู้อื่นอีกทอดหนึ่งด้วย
พิจารณาลักษณะของการกระทำอันเป็นองค์ประกอบความผิด
ได้ดังนี้
๒.๑.๓.๑ ใช้ประโยชน์ หมายถึง
การนำข้อความที่มีการติดต่อสื่อสารทางโทรศัพท์หรือเครื่องมือสื่อสารอื่นใดที่ได้มาจากการกระทำความผิดตามประกาศฯ
ข้อ ๑ ไปแสวงหาประโยชน์ ทั้งนี้
ไม่จำกัดว่าประโยชน์ที่นำไปใช้นั้นจะเป็นประโยชน์ที่เกี่ยวด้วยทรัพย์สินหรือไม่
หากนำไปใช้ประโยชน์
ไม่ว่าทางใดทางหนึ่งแล้ว กรณีย่อมต้องด้วยองค์ประกอบความผิดประการนี้ ทั้งนี้
ไม่ว่าโดยวิธีการใด ๆ ก็ตาม
๒.๑.๓.๒ การเปิดเผยข้อความนั้นต่อผู้อื่น หมายถึง การนำข้อความที่มีการติดต่อสื่อสารทางโทรศัพท์หรือเครื่องมือสื่อสารอื่นใดไปให้บุคคลที่สามล่วงรู้อีกทอดหนึ่ง ทั้งนี้ ไม่ว่าโดยวิธีการใด ๆ ก็ตาม
๒.๑.๔ โดยไม่มีอำนาจโดยชอบด้วยกฎหมาย
ความหมายเป็นนัยเดียวกับการกระทำโดยผิดกฎหมายหรือกระทำโดยไม่ชอบด้วยกฎหมายนั่นเอง กล่าวคือ ต้องเป็นการกระทำโดยไม่มีสิทธิหรือไม่มีอำนาจที่จะกระทำได้ตามกฎหมาย ดังนั้น หากข้อเท็จจริงปรากฏว่า การกระทำนั้น เป็นการกระทำโดยมีสิทธิ เป็นต้นว่า คู่สนทนาอนุญาตหรือให้ความยินยอมโดยไม่ขัดต่อความสงบเรียบร้อยหรือศีลธรรมอันดีของประชาชน หรือผู้กระทำมีอำนาจที่จะกระทำได้ตามกฎหมาย การกระทำดังกล่าวย่อมไม่เป็นความผิดตามประกาศฯ ข้อนี้ (โปรดดูหัวข้อ ๑.๑.๔)
๒.๒ สภาพบังคับ
จำคุกไม่เกินห้าปี หรือปรับไม่เกินหนึ่งแสนบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ
๓. ประกาศฯ ข้อ ๓ กำหนดว่า ผู้ใดใช้ให้ผู้อื่นกระทำความผิดตามข้อ ๑ หรือข้อ ๒ ต้องรับโทษเพิ่มขึ้นเป็นสองเท่าตามที่บัญญัติไว้ในข้อ ๑ หรือข้อ ๒ แล้วแต่กรณี
๓.๑ องค์ประกอบความผิด
๓.๑.๑ ผู้ใด
หมายถึง บุคคลธรรมดาและนิติบุคคล
๓.๒.๒ ใช้ให้ผู้อื่นกระทำความผิดตามข้อ ๑ หรือข้อ ๒
การใช้ ตามประกาศฯ ข้อที่ ๓ นี้ มีความหมายนัยเดียวกับประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๘๔ กล่าวคือ เป็นการก่อให้ผู้อื่นกระทำความผิดตามประกาศฯ ข้อ ๑ หรือ ข้อ ๒ ทั้งนี้ ไม่ว่าด้วยการใช้ บังคับ ขู่เข็ญ จ้างวานหรือยุยงส่งเสริม หรือด้วยวิธีอื่นใดก็ตาม
๓.๒ สภาพบังคับ
รับโทษเพิ่มขึ้นเป็นสองเท่าตามที่บัญญัติไว้ในข้อ ๑ หรือข้อ ๒ แล้วแต่กรณี
๔. ประกาศฯ ข้อ ๔ กำหนดว่า ถ้าผู้กระทำความผิดเป็นผู้ได้รับอนุญาตให้บริการโทรศัพท์หรือการสื่อสาร หรือเป็นผู้ได้รับสัมปทานการให้บริการดังกล่าว นอกจากต้องรับโทษตามข้อ ๑ ข้อ ๒ หรือข้อ ๓ แล้วแต่กรณีแล้ว ให้ใบอนุญาตหรือสัมปทานนั้น สิ้นสุดลงด้วย
ประกาศฯ ข้อที่ ๔ นี้ เป็นการกำหนดองค์ประกอบความผิดเพิ่มเติมในแง่ของผู้กระทำความผิด กล่าวคือ หากผู้กระทำความผิดตามประกาศฯ ข้อ ๑ ข้อ ๒ และ ข้อ ๓ เป็นผู้ได้รับอนุญาตให้บริการโทรศัพท์หรือการสื่อสาร หรือเป็นผู้ได้รับสัมปทานการให้บริการโทรศัพท์หรือการสื่อสารตามกฎหมายว่าด้วยการจัดสรรคลื่นความถี่ฯ ตลอดจนบรรดากฎหมายอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้อง นอกจากจะต้องรับผิดทางอาญาตามที่กำหนดในประกาศฯ ข้อ ๑ ข้อ ๒ หรือ ข้อ ๓ แล้วแต่กรณีแล้ว ประกาศฯ ข้อที่ ๔ ยังกำหนดสภาพบังคับทางปกครองกล่าวคือ ให้ใบอนุญาตหรือสัมปทานในการให้บริการโทรศัพท์หรือการสื่อสารนั้น สิ้นสุดลงด้วย
๔. กฎหมายที่ให้อำนาจในการเข้าถึงข้อมูลที่บุคคลสื่อสารถึงกัน
รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย มาตรา ๓๖ บัญญัติคุ้มครองเสรีภาพในการติดต่อสื่อสารถึงกันระหว่างบุคคลไม่ว่าในทางใด ๆ การตรวจ การกัก หรือการเปิดเผยข้อมูลที่บุคคลสื่อสารถึงกัน รวมทั้งการกระทำด้วยประการใด ๆ เพื่อให้ล่วงรู้หรือได้มาซึ่งข้อมูลที่บุคคลสื่อสารถึงกันจะกระทำมิได้ โดยเฉพาะอย่างยิ่งการสื่อสารทางโทรศัพท์หรือเครื่องมือสื่อสารใด เห็นได้ชัดจากประกาศฯ ฉบับนี้ ซึ่งได้บัญญัติให้บรรดาการกระทำดังกล่าวเป็นความผิดและได้บัญญัติโทษทางอาญากรณีที่ฝ่าฝืนเอาไว้แล้ว อย่างไรก็ดี เสรีภาพในการติดต่อสื่อสารตามรัฐธรรมนูญนั้นเป็นเสรีภาพที่สามารถถูกจำกัดได้ตามกฎหมาย กล่าวคือ หากมีคำสั่งหรือหมายของศาล หรือมีเหตุอื่นตามที่กฎหมายบัญญัติแล้ว บรรดาการตรวจ การกัก หรือการเปิดเผยข้อมูลที่บุคคลสื่อสารถึงกัน รวมทั้งการกระทำด้วยประการใด ๆ เพื่อให้ล่วงรู้หรือได้มาซึ่งข้อมูลที่บุคคลสื่อสารถึงกันย่อมสามารถกระทำได้ ทั้งนี้ ปรากฏบทบัญญัติกฎหมายที่ให้อำนาจในการกระทำดังกล่าวเอาไว้ ดังนี้
๑.พระราชบัญญัติป้องกันและปราบปรามการมีส่วนร่วมในองค์กรอาชญากรรมข้ามชาติ พ.ศ.๒๕๕๖
มาตรา ๑๗ บัญญัติว่า ในกรณีที่มีเหตุอันควรเชื่อว่า เอกสารหรือข้อมูลข่าวสารซึ่งส่งทางไปรษณีย์ โทรเลข โทรศัพท์ โทรสาร คอมพิวเตอร์ เครื่องมือ หรืออุปกรณ์ในการสื่อสาร สื่ออิเล็กทรอนิกส์ หรือสื่อทางเทคโนโลยีใด ถูกใช้หรืออาจถูกใช้ เพื่อให้ได้รับประโยชน์จากการกระทำความผิดฐานมีส่วนร่วมในองค์กรอาชญากรรมข้ามชาติ พนักงานสอบสวนซึ่งได้รับอนุมัติจากอัยการสูงสุด ผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ หรือผู้ซึ่งได้รับมอบหมาย แล้วแต่กรณี อาจยื่นคำขอฝ่ายเดียวต่ออธิบดีผู้พิพากษาศาลอาญาเพื่อมีคำสั่งอนุญาตให้ได้มาซึ่งเอกสารหรือข้อมูลข่าวสารดังกล่าวก็ได้
๒. พระราชบัญญัติป้องกันและปราบปรามการค้ามนุษย์ พ.ศ.๒๕๕๑
มาตรา ๓๐ บัญญัติว่า ในกรณีที่มีเหตุอันควรเชื่อได้ว่าเอกสารหรือข้อมูลข่าวสารอื่นใดซึ่งส่งทางไปรษณีย์ โทรเลข โทรศัพท์ โทรสาร คอมพิวเตอร์ เครื่องมือหรืออุปกรณ์ในการสื่อสารสื่ออิเล็กทรอนิกส์หรือสื่อสารสนเทศอื่นใด ถูกใช้หรืออาจถูกใช้เพื่อประโยชน์ในการกระทำความผิดฐานค้ามนุษย์ พนักงานเจ้าหน้าที่ซึ่งได้รับอนุมัติเป็นหนังสือจากผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ อธิบดีกรมสอบสวนคดีพิเศษ หรือผู้ว่าราชการจังหวัด แล้วแต่กรณี จะยื่นคำขอฝ่ายเดียวต่อศาลอาญาหรือศาลจังหวัดที่มีเขตอำนาจเพื่อมีคำสั่งอนุญาตให้พนักงานเจ้าหน้าที่ได้มาซึ่งเอกสาร หรือข้อมูลข่าวสารดังกล่าวก็ได้ ทั้งนี้ ตามหลักเกณฑ์และวิธีการที่กำหนดในข้อบังคับประธานศาลฎีกา
๓. พระราชบัญญัติการสอบสวนคดีพิเศษ พ.ศ.๒๕๔๗
มาตรา ๒๕ บัญญัติว่า ในกรณีที่มีเหตุอันควรเชื่อได้ว่า เอกสารหรือข้อมูลข่าวสารอื่นใดซึ่งส่งทางไปรษณีย์ โทรเลข โทรศัพท์ โทรสาร คอมพิวเตอร์ เครื่องมือ หรืออุปกรณ์ในการสื่อสาร สื่ออิเล็กทรอนิกส์ หรือสื่อทางเทคโนโลยีสารสนเทศใด ถูกใช้หรืออาจถูกใช้ เพื่อประโยชน์ในการกระทำความผิดที่เป็นคดีพิเศษพนักงานสอบสวนคดีพิเศษซึ่งได้รับอนุมัติจากอธิบดีเป็นหนังสือจะยื่นคำขอฝ่ายเดียวต่ออธิบดีผู้พิพากษาศาลอาญาเพื่อมีคำสั่งอนุญาตให้พนักงานสอบสวนคดีพิเศษได้มาซึ่งข้อมูลข่าวสารดังกล่าวก็ได้
๔. พระราชบัญญัติป้องกันและปราบปรามยาเสพติด พ.ศ.๒๕๑๙
มาตรา ๑๔ จัตวา บัญญัติว่า ในกรณีที่มีเหตุอันควรเชื่อได้ว่า เอกสารหรือข้อมูลข่าวสารอื่นใดซึ่งส่งทางไปรษณีย์ โทรเลข โทรศัพท์ โทรสาร คอมพิวเตอร์ เครื่องมือ หรืออุปกรณ์ในการสื่อสารสื่ออิเล็กทรอนิกส์ หรือสื่อทางเทคโนโลยีสารสนเทศใด ถูกใช้หรืออาจถูกใช้เพื่อประโยชน์ในการกระทำความผิดเกี่ยวกับยาเสพติด เจ้าพนักงานซึ่งได้รับอนุมัติจากเลขาธิการเป็นหนังสือ จะยื่นคำขอฝ่ายเดียวต่ออธิบดีผู้พิพากษาศาลอาญาเพื่อมีคำสั่งอนุญาตให้เจ้าพนักงานได้มาซึ่งข้อมูลข่าวสารดังกล่าวได้
๕. พระราชบัญญัติป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน พ.ศ.๒๕๔๒
มาตรา ๔๖ บัญญัติว่า ในกรณีที่มีพยานหลักฐานตามสมควรว่าบัญชีลูกค้าของสถาบันการเงิน เครื่องมือหรืออุปกรณ์ในการสื่อสาร หรือเครื่องคอมพิวเตอร์ใด ถูกใช้หรืออาจถูกใช้เพื่อประโยชน์ในการกระทำความผิดฐานฟอกเงิน พนักงานเจ้าหน้าที่ซึ่งเลขาธิการมอบหมายเป็นหนังสือจะยื่นคำขอฝ่ายเดียวต่อศาลแพ่ง เพื่อมีคำสั่งอนุญาตให้พนักงานเจ้าหน้าที่เข้าถึงบัญชี ข้อมูลทางการสื่อสาร หรือข้อมูลคอมพิวเตอร์เพื่อให้ได้มาซึ่งข้อมูลดังกล่าวนั้นก็ได้
ในกรณีตามวรรคหนึ่ง ศาลจะสั่งอนุญาตให้พนักงานเจ้าหน้าที่ผู้ยื่นคำขอดำเนินการโดยใช้เครื่องมือหรืออุปกรณ์ใด ๆ ตามที่เห็นสมควรก็ได้ แต่ทั้งนี้ให้อนุญาตได้คราวละไม่เกินเก้าสิบวัน
เมื่อศาลได้สั่งอนุญาตตามความในวรรคหนึ่งหรือวรรคสองแล้ว ผู้เกี่ยวข้องกับบัญชีข้อมูลทางการสื่อสาร หรือข้อมูลคอมพิวเตอร์ตามคำสั่งดังกล่าว จะต้องให้ความร่วมมือเพื่อให้เป็นไปตามความในมาตรานี้
๖. พระราชบัญญัติข่าวกรองแห่งชาติ พ.ศ.๒๕๖๒
มาตรา ๖ บัญญัติว่า เพื่อประโยชน์ในการปฏิบัติหน้าที่ตามมาตรา ๕ สำนักข่าวกรองแห่งชาติอาจสั่งให้หน่วยงานของรัฐหรือบุคคลใดส่งข้อมูลหรือเอกสารที่มีผลกระทบต่อความมั่นคงแห่งชาติภายในระยะเวลาที่ผู้อำนวยการกำหนด หากหน่วยงานของรัฐหรือบุคคลดังกล่าวไม่ส่งข้อมูลหรือเอกสารภายในกำหนดเวลาโดยไม่มีเหตุอันสมควร ให้สำนักข่าวกรองแห่งชาติรายงานต่อนายกรัฐมนตรีเพื่อพิจารณาสั่งการตามที่เห็นสมควรต่อไป
ในกรณีที่มีความจำเป็นต้องได้มาซึ่งข้อมูลหรือเอกสารอันเกี่ยวกับการข่าวกรอง การต่อต้านข่าวกรอง การข่าวกรองทางการสื่อสาร หรือการรักษาความปลอดภัยฝ่ายพลเรือน สำนักข่าวกรองแห่งชาติอาจดำเนินการด้วยวิธีการใด ๆ รวมทั้งอาจใช้เครื่องมืออิเล็กทรอนิกส์ เครื่องมือทางวิทยาศาสตร์ เครื่องโทรคมนาคม หรือเทคโนโลยีอื่นใด เพื่อให้ได้มาซึ่งข้อมูลหรือเอกสารดังกล่าวได้ ทั้งนี้ หลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขในการดำเนินการให้เป็นไปตามระเบียบที่ผู้อำนวยการกำหนดโดยความเห็นชอบของนายกรัฐมนตรี โดยระเบียบดังกล่าวอย่างน้อยต้องกำหนดให้มีการบันทึกรายละเอียดขั้นตอนการดำเนินการโดยเจ้าหน้าที่ผู้รับผิดชอบ เหตุผล ความจำเป็น วิธีการ บุคคลที่ได้รับผลกระทบหรืออาจได้รับผลกระทบ และระยะเวลาในการดำเนินการ รวมทั้งวิธีการป้องกัน แก้ไข และเยียวยาผลกระทบต่อบุคคลภายนอกที่ไม่เกี่ยวข้อง
การดำเนินการตามมาตรานี้หากได้กระทำตามหน้าที่และอำนาจโดยสุจริตตามสมควรแก่เหตุแล้ว และเป็นไปเพื่อประโยชน์ด้านความมั่นคงหรือการป้องกันภัยสาธารณะให้ถือว่าเป็นการกระทำโดยชอบด้วยกฎหมาย
๗. พระราชกำหนดการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ.๒๕๔๘
มาตรา ๑๑ บัญญัติว่า ในกรณีที่สถานการณ์ฉุกเฉินมีการก่อการร้าย การใช้กำลังประทุษร้ายต่อชีวิต ร่างกาย หรือทรัพย์สิน หรือมีเหตุอันควรเชื่อได้ว่ามีการกระทำที่มีความรุนแรงกระทบต่อความมั่นคงของรัฐ ความปลอดภัยในชีวิตหรือทรัพย์สินของรัฐหรือบุคคล และมีความจำเป็นที่จะต้องเร่งแก้ไขปัญหาให้ยุติได้อย่างมีประสิทธิภาพและทันท่วงที ให้นายกรัฐมนตรีโดยความเห็นชอบของคณะรัฐมนตรีมีอำนาจประกาศให้สถานการณ์ฉุกเฉินนั้นเป็นสถานการณ์ที่มีความร้ายแรง และให้นำความในมาตรา ๕ และมาตรา ๖ วรรคสอง มาใช้บังคับโดยอนุโลม
(๕) ประกาศให้พนักงานเจ้าหน้าที่มีอำนาจออกคำสั่งตรวจสอบจดหมาย หนังสือ สิ่งพิมพ์ โทรเลข โทรศัพท์ หรือการสื่อสารด้วยวิธีการอื่นใด ตลอดจนการสั่งระงับหรือยับยั้งการติดต่อหรือการสื่อสารใด เพื่อป้องกันหรือระงับเหตุการณ์ร้ายแรง โดยต้องปฏิบัติตามหลักเกณฑ์ที่กำหนดไว้ในกฎหมายว่าด้วยการสอบสวนคดีพิเศษโดยอนุโลม