|
เหตุผลในการตราพระราชบัญญัติฉบับนี้ คือ ธุรกิจการให้บริการรักษาความปลอดภัยมีความเกี่ยวข้องใกล้ชิด กับความปลอดภัยในชีวิตร่างกายและทรัพย์สินของประชาชน และส่งผลต่อความสงบเรียบร้อยของสังคม แต่มีมาตรฐานในการประกอบธุรกิจที่แตกต่างกัน และเพื่อเป็นการยกระดับมาตรฐานในการประกอบธุรกิจ และมาตรฐานของพนักงานรักษาความปลอดภัย อันจะเกิดประโยชน์ต่อประชาชนและสังคม จึงได้มีการเสนอตราพระราชบัญญัติฉบับนี้ โดยพระราชบัญญัติฉบับนี้มีผลใช้บังคับทั้งฉบับ เมื่อวันที่ ๕ มีนาคม ๒๕๕๙ โดยพระราชบัญญัตินี้ ไม่ใช้บังคับต่อการให้บริการรักษาความปลอดภัยขององค์การสงเคราะห์ทหารผ่านศึก ซึ่งเป็นองค์กรของรัฐซึ่งจัดตั้งขึ้นเพื่อการกุศล
พระราชบัญญัติฉบับนี้ ได้กำหนดให้มีคณะกรรมการกำกับธุรกิจรักษาความปลอดภัย ซึ่งมีผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติเป็นประธาน มีหัวหน้าส่วนราชการที่เกี่ยวข้องกับธุรกิจรักษาความปลอด และผู้ทรงคุณวุฒิเป็นกรรมการ มีผู้บัญชาการตำรวจนครบาลเป็นนายทะเบียนกลาง และนายทะเบียนจังหวัดกรุงเทพ มีผู้บังคับการตำรวจภูธรจังหวัด เป็นนายทะเบียนจังหวัด
โดยผู้จะประกอบธุรกิจรักษาความปลอดภัยตามพระราชบัญญัติฉบับนี้ จะต้องเป็นบริษัทจดทะเบียน มีจำนวนหุ้นที่ถือโดยบุคคลสัญชาติไทย เกินกว่ากึ่งหนึ่งของทุนจดทะเบียน และจำนวนกรรมการเกินกว่ากึ่งหนึ่งจะต้องเป็นบุคคลผู้มีสัญชาติไทยด้วย และได้รับใบอนุญาตประกอบธุรกิจจากนายทะเบียน โดยใบอนุญาตมีอายุ ๔ ปี นับแต่วันที่ออกใบอนุญาต นอกจากนี้ยังห้ามผู้ใดนอกจากบริษัทรักษาความปลอดภัยรับอนุญาต ใช้ชื่อหรือคำแสดงชื่อในธุรกิจว่า บริษัทรักษาความปลอดภัย โดยในการประกอบธุรกิจรักษาความปลอดภัย บริษัทฯ จะต้องปฏิบัติตามมาตรฐานการรักษาความปลอดภัยตามที่คณะกรรมการกำกับธุรกิจรักษาความปลอดภัยกำหนด และจะต้องแสดงใบอนุญาตการประกอบธุรกิจในที่เปิดเผย เห็นได้ง่ายในสถานที่ประกอบธุรกิจ นั้น และการให้บริการรักษาความปลอดภัยจะต้องทำสัญญาเป็นหนังสือและมีสาระสำคัญตามที่กฎหมายกำหนด โดยมีพนักงานรักษาความปลอดภัยรับอนุญาตเป็นผู้ให้บริการรักษาความปลอดภัย หากมีการเปลี่ยนแปลงพนักงานรักษาความปลอดภัยรับอนุญาตของบริษัทฯ จักต้องรายงานให้นายทะเบียนทราบภายใน ๑๕ วัน และบริษัทมีหน้าที่ต้องจัดทำรายงานผลการดำเนินงานประจำปีเสนอต่อนายทะเบียนด้วย
สำหรับบุคคลที่จะประกอบอาชีพพนักงานรักษาความปลอดภัย ตามพระราชบัญญัติฉบับนี้ จะต้องได้รับใบอนุญาตจากนายทะเบียน โดยใบอนุญาตมีกำหนด ๓ ปี นับแต่วันที่ออกใบอนุญาต
บุคคลผู้ขอใบอนุญาตประกอบอาชีพ จะต้องมีคุณสมบัติและไม่มีลักษณะต้องห้าม ดังนี้
๑. ต้องมีสัญชาติไทย และมีอายุไม่ต่ำกว่า ๑๘ ปีบริบูรณ์
๒. ต้องสำเร็จการศึกษาตามหลักสูตรการศึกษาภาคบังคับที่ใช้อยู่ในขณะที่สำเร็จการศึกษา
๓. ต้องได้รับหนังสือรับรองว่า ได้ผ่านการฝึกอบรมหลักสูตรการรักษาความปลอดภัย จากสถานฝึกอบรมที่นายทะเบียนกลางรับรอง
๔. ไม่เป็นผู้เป็นโรคพิษสุราเรื้อรัง หรือติดยาเสพติดให้โทษหรือเป็นโรคติดต่อ ตามที่คณะกรรมการกำกับธุรกิจรักษาความปลอดภัยกำหนด
๕. ไม่เป็นผู้วิกลจริต จิตฟั่นเฟือน ไม่สมประกอบ หรือเป็นคนไร้ความสามารถ หรือเสมือนไร้ความสามารถ
๖. ไม่เป็นผู้เคยได้รับโทษจำคุกในความผิดเกี่ยวกับชีวิต ร่างกายและทรัพย์ หรือความผิดเกี่ยวกับเพศ ตามประมวลกฎหมายอาญา, ความผิดตามกฎหมายว่าด้วยการพนัน, ความผิดตามกฎหมายว่าด้วยยาเสพติด เว้นแต่เป็นโทษสำหรับความผิดที่ได้กระทำโดยประมาทหรือความผิดลหุโทษ หรือพ้นโทษมาแล้วไม่น้อยกว่าสามปีก่อนวันขอรับใบอนุญาตและมิใช่ความผิดเกี่ยวกับเพศตามประมวลกฎหมายอาญา
๗. ไม่เป็นผู้เคยถูกเพิกถอนใบอนุญาตมาแล้ว ยังไม่พ้นกำหนด ๒ ปี นับถึงวันยื่นคำขอใบอนุญาต
ขณะปฏิบัติหน้าที่ พนักงานรักษาความปลอดภัยรับอนุญาต ต้องสวมเครื่องแบบและติดเครื่องหมายพนักงานรักษาความปลอดภัยรับอนุญาต กับทั้งต้องมีบัตรประจำตัวของบริษัทรักษาความปลอดภัย ที่ตนสังกัดติดตัวไว้พร้อมแสดง เมื่อได้รับการร้องขอ และห้ามบริษัทรักษาความปลอดภัยกำหนดเครื่องแบบพนักงานรักษาความปลอดภัยรับอนุญาต ให้เหมือนหรือคล้ายกับเครื่องแบบทหาร ตำรวจ หรือเครื่องแบบของเจ้าหน้าที่ของรัฐอื่น ตามที่นายทะเบียนกลางประกาศกำหนด
พระราชบัญญัติฉบับนี้ยังได้กำหนดหน้าที่ความรับผิดชอบต่อสังคมให้กับบริษัทรักษาความปลอดภัย และพนักงานรักษาความปลอดภัย ในการช่วยเหลือภารกิจของรัฐในด้านการป้องกันและปราบปรามอาชญากรรม กับดูแลความสงบเรียบร้อยของสังคม โดยบริษัทรักษาความปลอดภัย มีหน้าที่ต้องให้ความร่วมมือกับสถานีตำรวจในท้องที่ ซึ่งเป็นที่ตั้งของบริษัทในการให้ข้อมูลเกี่ยวกับบันทึกเหตุการณ์ประจำวันในการทำหน้าที่รักษาความปลอดภัย เพื่อประโยชน์ในการวางแผนการรักษาความสงบเรียบร้อย และหากพนักงานรักษาความปลอดภัยรับอนุญาต ในสังกัดมีข้อมูลอาชญากรรมที่เกี่ยวข้องกับเบาะแสของคนร้ายหรือข้อมูลการกระทำผิดอาญาที่เกิดขึ้นในบริเวณสถานที่ที่รักษาความปลอดภัย บริษัทรักษาความปลอดภัยมีหน้าที่ต้องแจ้งข้อมูลให้กับเจ้าพนักงานฝ่ายปกครอง หรือเจ้าพนักงานตำรวจที่ประจำอยู่ในท้องที่ที่รักษาความปลอดภัย นั้น
สำหรับพนักงานรักษาความปลอดภัยรับอนุญาต มีหน้าที่ต้องช่วยเหลือเจ้าพนักงานฝ่ายปกครอง หรือเจ้าพนักงานตำรวจในการจับกุมผู้กระทำความผิด รักษาความปลอดภัยในชีวิต และทรัพย์สินของบุคคล รวมทั้งระงับเหตุ, ปิดกั้นและรักษาสถานที่เกิดเหตุ และรักษาความสงบเรียบร้อยภายในบริเวณที่รักษาความปลอดภัย และเมื่อมีการกระทำผิดอาญา หรือน่าเชื่อว่าจะมีเหตุร้ายเกิดขึ้นในบริเวณ หรือสถานที่รักษาความปลอดภัย จะต้องแจ้งเหตุนั้นให้เจ้าพนักงานฝ่ายปกครองหรือเจ้าพนักงานตำรวจท้องที่ที่เป็นสถานที่รักษาความปลอดภัยทราบในทันที
ผู้ใดหรือบริษัทหรือพนักงานรักษาความปลอดภัย หากฝ่าฝืนข้อห้ามหรือไม่ปฏิบัติตามบทบัญญัติแห่งกฎหมายนี้จะมีความผิดและอาจได้รับโทษทางอาญาทั้งโทษจำคุก และปรับตามที่กฎหมายบัญญัติไว้
--------------------------------------------